โรคกุหลาบ
หากคุณคิดจะปลูกกุหลาบสิ่งที่คุณควรคำนึงถึงก็คือโรคกุหลาบซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้ปลูกกุหลาบต้องพบเจอ โรคกุหลาบจะทำให้กุหลาบของคุณไม่สมบูรณ์
ใบไหม้เหลือง ดอกไม่งาม ดอกเน่าเสียหรือแม้แต่ต้นอาจตายได้
โรคกุหลาบจึงนับเป็นศัตรูที่สำคัญของกุหลาบเพราะบางครั้งกว่าจะทราบ
กุหลาบของคุณก็เกิดโรคไปแล้ว
สิ่งที่จะช่วยกุหลาบของคุณได้ก็คือการป้องกันมากกว่าการรักษา
โรคกุหลาบมีมากมายได้แก่
โรคราสนิม (Rust)
เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งซึ่งแพร่กระจายได้ดีในอากาศชื้น
โรคนี้มักเกิดในฤดูฝนและเกิดกับใบแก่ โดยที่ใต้ใบจะมีผงสีส้ม คล้ายผงแป้ง
ส่วนด้านบนของใบจะมีจุดสีเหลืองหรือสีน้ำตาลเกิดขึ้น
วิธีการป้องกันและรักษา
เด็ดใบที่เกิดโรคทิ้งรวมทั้งใบที่ร่วงตามพื้นดินทิ้งด้วย
หลีกเลี่ยงการรดน้ำที่ใบเพราะเชื้อราจะแพร่กระจายได้ดีในน้ำ หากจำเป็นอาจฉีดพ่นด้วยยาที่มีส่วนประกอบของกำมะถัน
โรคราแป้ง(Powderly mildew)
เกิดจากเชื้อราSphaerotheca pannosa ที่สปอร์ของราแพร่กระจายมาตามลม
เชื้อนี้จะระบาดได้ดีโดยเฉพาะในอากาศที่กลางคืนหนาวและชื้นส่วนกลางวันอากาศอุ่นและแห้ง
โดยมากมักเกิดกับใบย่อยหรือยอดอ่อน
ที่ใบจะมีลักษณะเป็นผงสีขาวคล้ายแป้งเคลือบอยู่บนผิวใบทั้งด้านบนและใต้ใบ
ทำให้ใบหงิกงอ ถ้าเป็นมากใบอาจเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือดำและร่วง
ถ้าเป็นที่ดอกตูมดอกจะไม่บาน
วิธีการป้องกันและรักษา
กำจัดใบที่เกิดโรครวมทั้งใบที่ร่วงตามพื้นดินทิ้ง ฉีดพ่นด้วยยาเบนเลท คาราเทนหรือกำมะถันผง สำหรับกำมะถันผงควรฉีดพ่นในช่วงเช้าหรือเย็น
ถ้าใช้ในวันที่อากาศร้อนจัดจะทำให้ใบไหม้
โรคใบจุดดำ (Black spot)
โรคนี้เกิดขึ้นตลอดทั้งปีแต่จะเกิดรุนแรงมากในช่วงฤดูฝน
หรือฤดูหนาวที่มีน้ำค้างมาก
สปอร์ของราที่อยู่บนใบแก่ที่ร่วงตามพื้นดินหรือที่อยู่ตามง่ามกิ่งจะปลิวไปติดใบที่ไม่เป็นโรค
เมื่อได้รับความชื้นติดต่อกันประมาณ 6-8 ชั่วโมง สปอร์จะงอกเข้าไปในต้น
หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ อาการก็จะ
ปรากฎขึ้น
ใบกุหลาบที่เกิดโรคจะเป็นจุดดำบริเวณผิวด้านบนของใบ ขนาดจุดประมาณ 1/4 นิ้ว ในแต่ละจุดจะเห็นเส้นใยเป็นขุย
เมื่อเป็นมากใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วง กุหลาบจะชงักการเติบโต
วิธีการป้องกันและรักษา
กำจัดใบหรือต้นที่เกิดโรคโดยนำไปเผาไฟทิ้ง
หลีกเลี่ยงการรดน้ำที่เปียกต้นและใบเนื่องจากใบที่เปียกจะเป็นที่เพาะเชื้อราได้อย่างดี ควรฉีดพ่นยากำจัดเชื้อราที่ใบและต้นเพื่อเป็นการป้องกันก่อนเกิดโรคเพราะเมื่อเกิดโรคแล้วจะไม่มียารักษาได้
โรคแอนแทรกโนส (Anthracnose)
เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งที่สามารถแพร่กระจายได้ดีในน้ำคล้ายกับโรคของใบจุดดำ พบในช่วงที่มีฝนตกชุก โดยจะมีจุดสีแดงหรือสีน้ำตาลเป็นวงเล็กๆ
บนผิวใบด้านบน วงนี้จะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีขาวขอบม่วง เมื่อเป็นมากใบจะเหลืองและร่วง
วิธีการป้องกันและรักษา
ใช้วิธีเดียวกันกับการป้องกันรักษาโรคใบจุดดำ
โรคราสีเทา (Botrytis)
ดอกตูมจะเป็นจุดสีน้ำตาล และลุกลามขยายใหญ่ ทำให้ดอกเน่าแห้ง
วิธีการป้องกันและรักษา
เพื่อไม่ให้ดอกกุหลาบถูกฝนควรปลูกกุหลาบในโรงเรือนพลาสติก กำจัดใบหรือต้นที่เกิดโรค ฉีดพ่นสารเคมีด้านข้างและด้านบนดอกด้วย
คอปเปอร์ ไฮดร๊อกไซด์ แมนโคเซ็บ หรือ คอปเปอร์ อ๊อกซี่คลอไรด์
เพื่อไม่ให้เชื้อราแพร่กระจาย
โรคหนามดำ
เกิดกับหนามของกิ่งอ่อนและลุกลามตามกิ่งก้าน ทำให้ก้านเหี่ยวแห้งในที่สุดต้นจะตาย
โดยแผลจะมีลักษณะเป็นรูปวงรี
โรคราน้ำค้าง(Downey mildew)
เชื้อสาเหตุ
เชื้อราPeronospora spasa ลักษณะการทำลาย อาการจะแสดงบน ใบ กิ่ง
คอดอก กลีบเลี้ยง และกลีบดอก การเข้าทำลายจะจำกัดที่ส่วนอ่อน
หรือส่วนยอด
โดยจะเกิดรอยปื้นสีดำที่ส่วนบนของใบ รอยดำนี้จะต่างจากโรคใบจุดดำ
เพราะจะมีลักษณะค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมและใบจะร่วงหลังจากรอยดำปรากฏขึ้นเพียงไม่กี่วัน
แมลงศัตรูกุหลาบ
นอกจากโรคแล้วศัตรูกุหลาบที่สำคัญอีกอย่างก็คือแมลง
ซึ่งผู้ปลูกกุหลาบพบบ่อยมากและอาจเคยชินมากกว่าโรค
เนื่องจากการทำลายของแมลงมองเห็นได้ชัด
แมลงที่เป็นปัญหารบกวนกุหลาบเช่น
ด้วงปีกแข็ง (Rose beetle)
มีทั้งชนิดที่มีลำตัวสีดำและลำตัวสีน้ำตาล เป็นแมลงกัดใบ
โดยจะจับอยู่ตามใต้ใบและกัดกินใบเป็นอาหาร
หากินเวลากลางคืนส่วนกลางวันจะหลบอยู่ตามใต้ดินหรือกอหญ้าและแพร่พันธุ์บริเวณนั้น
ตัวอ่อนจะอาศัยกัดกินรากหญ้าเป็นอาหาร
ป้องกันและกำจัดได้ด้วยการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเช่น เซฟวินหรือคอนเดนทุกๆสัปดาห์
เพลี้ยแป้ง (Mealy bug)
เป็นแมลงปากดูด
เคลื่อนที่ช้า อาศัยมดเป็นพาหนะ เกาะและกัดกินใบอ่อน ทำให้ใบหงิกงอ
ลักษณะลำตัวมีปุยสีขาวคลุมอยู่และปุยนี้มีคุณสมบัติเป็นมันไม่จับน้ำ
การฉีดพ่นน้ำแรงๆเพื่อให้เพลี้ยหลุดออกเป็นวิธีหนึ่งในการป้องกันและกำจัด ถ้าต้องใช้สารเคมีอาจพ่นด้วยมาลาไธออน
โดยต้องผสมยาเคลือบใบลงไปด้วย
เพลี้ยไฟ (Thrips)
เป็นแมลงปากดูดขนาดเล็กมาก
มีสีเทาจนถึงสีดำ
ตัวอ่อนจะมีสีขาวนวล ชอบอาศัยอยู่ตามซอกกลีบ
และชอบดูดน้ำเลี้ยงจากดอกตูม ดอกบาน ยอดอ่อน และใบ
มักเกิดกับกุหลาบที่มีสีอ่อนๆ
ทำให้ดอกไม่บานหรือบานไม่ปกติ
กลีบดอกที่ถูกเพลี้ยไฟทำลายมีอาการลายด่างสีขาว ควรระมัดระวังโดยเฉพาะช่วงที่มีอากาศแห้ง
ป้องกันและกำจัดโดยการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงก่อนที่ดอกตูมจะบาน
หากมีการทำลายเกิดขึ้นแล้วให้เด็ดดอกที่เสียหายทิ้งและฉีดพ่นยาฆ่าแมลง
เพลี้ยหอย
เป็นแมลงปากดูดที่กำจัดยาก
มักเกาะทำลายโดยดูดน้ำเลี้ยงจากลำต้น
จะสังเกตเห็นเป็นจุดสีน้ำตาลอยู่บนกิ่งของกุหลาบ เพลี้ยหอยนี้มีลักษณะพิเศษ คือ
ตัวของมันจะมีเปลือกหุ้มหนาเป็นรูปครึ่งวงกลม
สีน้ำตาล
ทำให้ยาฆ่าแมลงซึมเข้าถึงตัวได้ยาก
การป้องกันและกำจัดที่ได้ผลดีก็คือ ใช้น้ำมันทาหรือฉีดพ่นเคลือบตัวมันไว้
ทำให้เพลี้ยไม่มีทางหายใจ และตายในที่สุด แต่เมื่อเพลี้ยตายแล้วจะไม่หลุดจากลำต้นจะยังติดอยู่ที่เดิม
เพลี้ยอ่อน (Aphids)
เป็นแมลงปากดูด
ลำตัวค่อนข้างใส ยาวประมาณ 1/8 นิ้ว สีเขียวหรือสีน้ำตาล หากินเป็นกลุ่ม
โดยดูดน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน ยอดอ่อน ทำให้ใบหงิกงอ
เพลี้ยอ่อนจะขับถ่ายออกมาทำให้เกิดคราบสีดำบนใบ ซึ่งสิ่งขับถ่ายของเพลี้ยอ่อนนี้เป็นอาหาร
ของมด ดังนั้นมดจึงกลายเป็นพาหนะพาเพลี้ยอ่อนเคลื่อนที่ไป
ป้องกันและกำจัดโดยการใช้ยาฆ่าแมลงชนิดดูดซึม เช่นแอนดริน ฉีดพ่น
ผึ้งกัดใบ (Leafcutter bees)
ตัวสีดำ
น้ำเงินหรือสีม่วง ใบที่ถูกกัดจะแหว่งเป็นรอยโค้งเป็นวงกลมหรือรูปไข่ ผึ้งไม่กินใบที่กัดเป็นอาหารแต่จะนำไปใช้ในการสร้างรัง
ป้องกันและกำจัดได้โดยตัดกิ่งที่ใบถูกทำลาย
เนื่องจากผึ้งเป็นแมลงที่ช่วยในการผสมเกสรของพืชหลายๆชนิดจึงไม่แนะนำให้ใช้ยาฆ่าแมลง
หนอนกินใบ
เกิดจากหนอนผีเสื้อ กลางคืนหลายชนิด
วางไข่ตามใต้ใบ ไข่จะมีลักษณะเป็นแพคล้ายฟองน้ำ
เมื่อฟักออกจากไข่ตัวจะมีสีเขียวและกัดกินใบที่เกาะอยู่
โดยจะกินเนื้อใบด้านล่างเท่านั้น จนใบที่ถูกกัดกินมีลักษณะโปร่งใส หรือเป็นรูแหว่ง
ป้องกันและกำจัดโดยการฉีดพ่นด้วยยา Bacillus
thuringiensis ที่ทำลายเฉพาะหนอนผีเสื้อแต่ไม่เป็น
อันตรายต่อพืชและสัตว์อื่น
หนอนเจาะดอก
ตัวผีเสื้อจะเข้าไป วางไข่ บนกลีบดอกด้านนอก และเมื่อไข่ฟักเป็นตัว
หนอนจะเข้าเจาะกัดกินทำลายดอกเสียหาย
ทำให้กลีบดอกเป็นแผล เป็นรู ดอกแคระแกรนเสียรูปทรง
หากพบการระบาดของหนอนในปริมาณที่ไม่มาก
ให้ใช้วิธีบี้ให้ตายหรือจับหนอนออกจากต้นแล้วนำไปทำลาย
ให้ห่างจากแปลงปลูกหรือกระถางปลูก
หากมีการระบาดมากให้ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเช่น
ดริลดริน ฟอสดริน
หนอนเจาะต้น
เกิดจากตัวอ่อของผีเสื้อหรือตัวต่อ แตน เป็นหนอนสีขาวหรือเหลืองยาวประมาณ
1 นิ้วเกาะอยู่ตามลำต้น
หนอนนี้จะเจาะเข้าไปในลำต้นหรือกิ่งที่ถูกตัดเพื่อเกาะกินไส้และบริเวณรอยต่อระหว่างกิ่งแห้งและกิ่งดี ทำให้กิ่ง และลำต้นเหี่ยว ที่ลำต้นจะมีลอยนูน โป่งยาวประมาณ 1 นิ้ว
วิธีป้องกันและกำจัด ตัดกิ่งที่เสียหายทิ้งโดยตัดให้ต่ำกว่ารอยนูน
โป่ง เพื่อให้แน่ใจว่าตัดเอาหนอนทิ้งไปแล้ว
เพื่อเป็นการป้องกันหนอนเจาะต้นหลังจากตัดกิ่งแล้วให้อาบด้วยน้ำยาเคลือบมันที่ปลายกิ่ง
ไรแดง (Spider mite)
เป็นแมงมุมชนิดหนึ่ง ขนาดเล็กมากจนมองเห็นได้ยาก มีทั้งพวกที่มีสีแดง ดำ เหลืองและเขียว มักเกาะอยู่ใต้ใบคอยดูดกินน้ำเลี้ยง
ทำให้ใบแห้ง เหลืองและร่วง
ป้องกันและกำจัดได้โดยการรดน้ำด้วยวิธีฉีดพ่นน้ำแรงๆช่วยกำจัดไรแดงในระยะแรกได้ ฉีดพ่นด้วยยาฆ่าแมลงเช่นยาโบรพาร์ไจน์ ได้ทุกๆ
15 วัน พยายามเปลี่ยนยาเนื่องจากถ้าใช้ยาเดิมไรแดงจะสามารถต้านทานฤทธิ์ยาได้
ไรแดงแพร่ขยายพันธุ์ได้เร็วภายในเวลาไม่กี่วันจึงควรฉีดพ่นยาบ่อยๆ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น