วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

การเลือกทำเลในการปลูกดอกกุหลาบ


การเลือกทำเลปลูก
              
เมื่อคุณตัดสินใจที่จะปลูกกุหลาบ คุณต้องคิดเสมอว่ากุหลาบต้องอยู่กับคุณและออกดอกให้คุณได้ชื่นชมไปนานๆ ดังนั้นการเลือกทำเลปลูกที่เหมาะสมจึงเป็นเรื่องสำคัญ ทำเลที่ดีจะทำให้กุหลาบของคุณเจริญเติบโตได้ดี ออกดอกให้คุณมากๆ ทั้งยังแข็งแรงไม่เป็นโรค ปัจจัยในการเลือกทำเลปลูกที่ดีต้องประกอบด้วย

ดินดี
             ทำเลที่จะปลูกควรมีดินที่อุดมสมบูรณ์ ดินที่ดีต้องมีอินทรีย์วัตถุและธาตุอาหารมากพอ  ไม่มีความเป็นกรดเป็นด่างมากเกินไป   ค่า pH ของดิน ที่กุหลาบชอบอยู่ที่ 5.5-6.5 หรือดินเป็นกรดเล็กน้อย (7.0 ดินเป็นกลาง มากกว่า 7.0 ดินมีความเป็นด่างและน้อยกว่า 7.0 ดินมีความป็นกรด) ถ้าดินมีความเป็นด่างมากไปจะทำให้ธาตุเหล็กในดินน้อยส่งผลให้กุหลาบใบเหลือง และไม่เจริญเติบโต

น้ำเพียงพอ
               แม้กุหลาบจะทนความแห้งแล้งได้ดีแต่กุหลาบก็ต้องการน้ำมากและต้องการตลอดปี  ถึงกระนั้นก็ตามกุหลาบก็ไม่ชอบดินที่เปียกชื้น  ดังนั้นการระบายน้ำในดินก็ต้องดีด้วยเช่นกัน   มิฉะนั้นจะเกิดน้ำท่วมขัง หากแปลงปลูกที่การะบายน้ำไม่ดี อาจใช้วิธีการยกแปลงปลูกให้สูงขึ้นประมาณ 18 นิ้วก็ได้

   ไม่ควรรดน้ำหลัง 15.00 น.เพราะใบที่เปียกและดินชื้นตลอดทั้งคืนจะทำให้กุหลาบเป็นโรคได้

แสงแดด
              กุหลาบเป็นพืชที่ชอบแสงแดด ดังนั้นปัจจัยหลักในการเลือกทำเลก็คือแสงแดดนั้นเอง   การได้รับแสงแดดสม่ำเสมออย่างน้อยวันละ 6-8 ช.ม. เริ่มตั้งแต่แดดในช่วงเช้า  จะทำให้กุหลาบเจริญเติบโต  แตกใบ แตกยอดได้ดี และนั่นย่อมหมายถึงให้ดอกดกด้วย นอกจากนั้นแสงแดดตอนเช้าจะช่วยทำให้ใบกุหลาบแห้งเร็ว  ไม่เปียกชื้นลดการเสี่ยงต่อโรคราต่างๆ  ถ้ากุหลาบได้รับแสงแดดไม่เพียงพอจะทำให้ ดอกมีขนาดเล็ก ดอกไม่ดก ต้นไม่แข็งแรง เกิดโรคได้ง่าย

อุณหภูมิ
               กุหลาบชอบแสงแดดก็จริงแต่ไม่ชอบอุณหภูมิหรืออากาศที่ร้อนจัด หากปลูกในที่ที่อากาศร้อนมากๆ กุหลาบจะชะงักการเจริญเติบโตและให้ดอกที่ไม่สมบูรณ์

ลม
           การปลูกกุหลาบในที่โล่งแจ้งมีลมพัดแรงจะทำให้ต้นกุหลาบโยกคลอน ทำให้รากไม่ยึดจับดินและรากอาจขาดได้  ลมจะทำให้กุหลาบคายน้ำเร็วจึงทำให้ต้นเหี่ยวเฉา ถ้าทำเลที่ปลูกมีลมแรงต้องทำที่กำบังลม หรือปลูกไม้กันลม

ระยะห่าง
            กุหลาบต้องการระยะห่างเพื่อจะได้แผ่กิ่งก้านออกไปได้ การปลูกกุหลาบแน่นเกินไปทำให้อากาศถ่ายเทไม่ดี  และทำให้กุหลาบเป็นโรคได้ง่าย หลักในการเผื่อระยะห่างให้กุหลาบก็คือเผื่อระยะห่างให้เท่ากับความสูง        ยกตัวอย่างเช่นถ้ากุหลาบของคุณมีแนวโน้มว่าจะสูงถึง 4-5 ฟุต คุณก็ต้องเผื่อระยะห่างให้กว้างประมาณนั้น

วันพุธที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

นานาประโยชน์ของผลกุหลาบ



นานาประโยชน์ของผลกุหลาบ


            เมื่อพูดถึงกุหลาบทุกคนมักจะนึกถึงแค่ดอกหรือไม่ก็ต้นกุหลาบเท่านั้น มีสักกี่คนที่จะรู้ว่ากุหลาบก็มีผลเหมือนกัน แล้วผลกุหลาบมันคือส่วนไหนของกุหลาบกันล่ะ   ผลกุหลาบ  (Rose Hip) คือส่วนที่เป็นรังไข่โดยเมื่อเริ่มติดผลส่วนที่เป็นรังไข่จะขยายพองโตขึ้นโดยมีฐานรองดอกหุ้มไว้   ผลมีรูปร่างต่างๆ กันตามชนิด เช่น กลม กลมแป้น ยาวรี  มีเนื้อนุ่ม และมีหลายสี เช่น สีส้ม สีแดง สีเหลือง หรือสีน้ำตาล บางทีก็เป็นสีม่วง ภายในผลจะมีเมล็ดเล็กๆ
  
              นอกจากกลีบกุหลาบที่กินได้แล้วผลกุหลาบก็กินได้เช่นเดียวกันเพราะผลกุหลาบเป็นแหล่งรวมธาตุอาหารต่างๆมากมายที่ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ต่อร่างกายทั้งสิ้นโดยเฉพาะวิตามินซี  ด้วยเหตุนี้เองจึงมีผู้นำผลกุหลาบไปทำอาหารบ้าง  ทำยารักษาโรคบ้างและแม้แต่สกัดน้ำมันไปเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง

ผลกุหลาบกับอาหาร

           เป็นที่ทราบกันว่าคนพื้นเมืองอเมริกันนำกุหลาบและผลกุหลาบมาทำอาหารมาเนิ่นนานหลายศตวรรษแล้ว  ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 คนอังกฤษมีการระดมปลูกกุหลาบเพื่อนำผลกุหลาบมาทำอาหารกันเป็นจำนวนมากเนื่องจากผลกุหลาบมีวิตามินซีมากและในช่วงนั้นผลไม้รสเปรี้ยวเช่นส้มขาดแคลนไม่สามารถนำเข้าประเทศได้ทำให้ต้องใช้ผลกุหลาบในการให้วิตามินซีแทน       นอกจากนี้ผลกุหลาบยังนำไปทำอาหารได้หลายชนิด
เช่นทำแยม  ทำเยลลี    ทำซุป ทำไวน์และชงเป็นชา 


 

แหล่งรวมวิตามิน

           ผลกุหลาบยังเป็นแหล่งรวมของวิตามินต่างๆเช่นวิตามินเอ   วิตามินซี   วิตามินบี 3  วิตามิน บีคอมเพลกซ์  วิตามินดีและวิตามินอี    รวมทั้งมีน้ำตาล
ฟรัคโตส  กรดซิตริค  กรดมาลิค  สังกะสี  เหล็ก  โปแตสเซียมและ แมกนีเซียมด้วยโดยเฉพาะวิตามินซีมีมากกว่าผลไม้รสเปรี้ยวจำพวกส้มถึง 20 เท่า

ผลกุหลาบกับสรรพคุณทางยา


          
     ปีค.ศ 2007 ทีมนักวิจัยชาวเยอรมันและเดนมาร์กได้ทำการศึกษาประโยชน์ของผลกุหลาบต่อการรักษาโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ ในการศึกษาจากจำนวนอาสาสมัครประมาณ 74 คน (ส่วนใหญ่เป็นหญิง)ได้ทำการทดลองเป็นระยะเวลา 6 เดือนโดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งรับประทาน placebo หรือยาที่ไม่มีฤทธิ์ทางยาใช้หลอกคนไข้ fake treatment อีกกลุ่มทานผลกุหลาบผลปรากฎว่ากลุ่มที่ทานผลกุหลาบเป็นประจำจำนวน 25 % จะมีอาการปวดลดลงถึง 40 %   ส่วนกลุ่มที่ทาน placebo ไม่มีรายงานการเปลี่ยนแปลง
               กล่าวกันว่าชาที่ทำจากผลกุหลาบมีประสิทธิภาพดีในการรักษาโรคท้องร่วง และการติดเชื้อโดยเฉพาะการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ   ช่วยให้ไตแข็งแรง   วิตามินซีจากผลกุหลาบช่วยป้องกันและรักษาไข้หวัด   บรรเทาอาการปวดศีรษะ    ซึ่งชาวนิวซีแลนด์มีชื่อเสียงมากในการทำน้ำเชื่อมจากผลกุหลาบ ให้เด็กๆรับประทานในหน้าหนาวเพื่อป้องกันไข้หวัด นอกจากนี้ยังช่วยให้ระบบการหมุนเวียนของโลหิตดีขึ้น 

ผลกุหลาบกับสรรพคุณทางเครื่องสำอาง


           น้ำมันสกัดจากผลและเมล็ดกุหลาบนำไปเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางมากมายโดยเฉพาะเครื่องสำอางบำรุงผิว        
  
               ดังนั้นในครั้งต่อไปถ้าคุณนึกถึงชาหอมๆที่ช่วยสร้างระบบภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย คิดถึงอาหารช่วยบำรุงหัวใจ หรือคิดถึงยาที่ใช้บรรเทาอาการปวดจากโรคข้ออักเสบ คุณไม่ต้องไปมองไกล ผลกุหลาบในสวนของคุณนั่นแหล่ะ แต่ต้องจำไว้ว่าแม้ผลกุหลาบจะไม่มีพิษ  แต่ถ้าคุณได้มาจากที่อื่นที่ไม่ใช่ในสวนของคุณเองต้องแน่ใจว่าไม่มีสารเคมีหรือยาฆ่าแมลงตกค้างอยู่   มิฉะนั้นแทนที่คุณจะได้รับประโยชน์เต็มที่คุณอาจได้รับผลในทางลบต่อสุขภาพของคุณ

ประโยชน์ของกุหลาบ

 กุหลาบ เป็นไม้ดอกที่มีความสวยงามยากที่จะหาดอกไม้ชนิดอื่นมาเปรียบเทียบได้จนกระทั่งมีผู้ให้ฉายาว่า "ราชินีแห่งดอกไม้" ดังนั้นกุหลาบจึงเป็นดอกไม้ที่นิยมปลูกและใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในและต่างประเทศ นอกจากนี้กุหลาบยังมีคุณสมบัติที่ดีเด่นอีกหลายประการ สามารถใช้ประโยชน์ได้กว้างขวาง เช่น ใช้เป็นไม้กระถาง ไม้ตัดดอก ตกแต่งสถานที่ ตลอดจนใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับทำเป็น น้ำมันหอมระเหยและดอกไม้แห้ง ในการปลูกเป็นการค้าก็ยังได้เปรียบดอกไม้อีกหลายชนิดเป็นต้นว่า สามารถควบคุมการออกดอกได้ง่ายซึ่งทำให้กำหนดการออก ดอก ให้ตรงกับเทศกาลทำให้สามารถจำหน่ายได้ราคาดี และเนื่องจากกุหลาบเป็นดอกไม้ ที่นิยมของคนทั่วไป ดังนั้น จึงสามารถหาตลาดจำหน่ายได้ง่ายกว่าดอกไม้อื่นๆ นอกจากนี้กุหลาบที่ปลูกในประเทศไทยยังเจริญเติบโตได้ดีในฤดูหนาว ซึ่งต่างกับ ประเทศในแถบยุโรปที่ต้องการกุหลาบมาก การจะปลูกกุหลาบในฤดูหนาวต้องปลูกในเรือนกระจก ทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูงจึงส่งผลให้ดอกกุหลาบมีราคา แพง ดังนั้น ประเทศ ที่ปลูกกุหลาบได้ดีในฤดูหนาวจึงสามารถตัดดอกส่งไปขายตลาดต่าง ประเทศได้ราคาดี
ประโยชน์:ในสังคมไทย นิยมนำกุหลาบมาใช้งานอย่างกว้างขวางในงานทุกประเภท ได้แก่ การตกแต่งสถานที่ สำนักงาน โรงแรม สถานที่ท่องเที่ยว หรือจัดเวทีแสดง ซุ้มงานแต่งงาน งานศพ ใช้บูชาพระ ใช้จัดดอกไม้แสดงความยินดีหรือเป็นของขวัญ โดยเฉพาะนิยมมอบให้กันในวันวาเลนไทน์เพื่อแสดงความรัก ดังนั้น กุหลาบจึงเป็นไม้ตัดดอกที่นิยมใช้ทุกเทศกาลสามารถเเบ่งให้ดูง่ายๆได้ดังนี้

1.)ปลูกเพื่อความสวยงาม

2.)ตกแต่งสวน

3.)เพิ่มบรรยากาศ

4.)ใช้ประดับตกแต่งบ้าน งานเลี้ยง งานแต่งงาน

5.)ปลูกเพื่อส่งดอกขาย

6.) เพื่อนำไปสกัดน้ำหอม

7.)นำไปทำเป็นส่วนประกอบของสปา



โรคที่เกิดในดอกกุหลาบและแมลงศัตรูในดอกกุหลาบ


โรคกุหลาบ


หากคุณคิดจะปลูกกุหลาบสิ่งที่คุณควรคำนึงถึงก็คือโรคกุหลาบซึ่งเป็นปัญหาที่ผู้ปลูกกุหลาบต้องพบเจอ       โรคกุหลาบจะทำให้กุหลาบของคุณไม่สมบูรณ์ ใบไหม้เหลือง  ดอกไม่งาม  ดอกเน่าเสียหรือแม้แต่ต้นอาจตายได้  โรคกุหลาบจึงนับเป็นศัตรูที่สำคัญของกุหลาบเพราะบางครั้งกว่าจะทราบ กุหลาบของคุณก็เกิดโรคไปแล้ว  สิ่งที่จะช่วยกุหลาบของคุณได้ก็คือการป้องกันมากกว่าการรักษา
 โรคกุหลาบมีมากมายได้แก่

โรคราสนิม (Rust) 

       เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งซึ่งแพร่กระจายได้ดีในอากาศชื้น โรคนี้มักเกิดในฤดูฝนและเกิดกับใบแก่ โดยที่ใต้ใบจะมีผงสีส้ม คล้ายผงแป้ง ส่วนด้านบนของใบจะมีจุดสีเหลืองหรือสีน้ำตาลเกิดขึ้น 

วิธีการป้องกันและรักษา  เด็ดใบที่เกิดโรคทิ้งรวมทั้งใบที่ร่วงตามพื้นดินทิ้งด้วย  หลีกเลี่ยงการรดน้ำที่ใบเพราะเชื้อราจะแพร่กระจายได้ดีในน้ำ  หากจำเป็นอาจฉีดพ่นด้วยยาที่มีส่วนประกอบของกำมะถัน        


 โรคราแป้ง(Powderly mildew)


         เกิดจากเชื้อราSphaerotheca pannosa ที่สปอร์ของราแพร่กระจายมาตามลม เชื้อนี้จะระบาดได้ดีโดยเฉพาะในอากาศที่กลางคืนหนาวและชื้นส่วนกลางวันอากาศอุ่นและแห้ง โดยมากมักเกิดกับใบย่อยหรือยอดอ่อน ที่ใบจะมีลักษณะเป็นผงสีขาวคล้ายแป้งเคลือบอยู่บนผิวใบทั้งด้านบนและใต้ใบ ทำให้ใบหงิกงอ ถ้าเป็นมากใบอาจเปลี่ยนเป็นสีม่วงหรือดำและร่วง ถ้าเป็นที่ดอกตูมดอกจะไม่บาน

วิธีการป้องกันและรักษา  กำจัดใบที่เกิดโรครวมทั้งใบที่ร่วงตามพื้นดินทิ้ง ฉีดพ่นด้วยยาเบนเลท  คาราเทนหรือกำมะถันผง  สำหรับกำมะถันผงควรฉีดพ่นในช่วงเช้าหรือเย็น ถ้าใช้ในวันที่อากาศร้อนจัดจะทำให้ใบไหม้    
  
 โรคใบจุดดำ (Black spot) 



       โรคนี้เกิดขึ้นตลอดทั้งปีแต่จะเกิดรุนแรงมากในช่วงฤดูฝน หรือฤดูหนาวที่มีน้ำค้างมาก สปอร์ของราที่อยู่บนใบแก่ที่ร่วงตามพื้นดินหรือที่อยู่ตามง่ามกิ่งจะปลิวไปติดใบที่ไม่เป็นโรค เมื่อได้รับความชื้นติดต่อกันประมาณ 6-8 ชั่วโมง สปอร์จะงอกเข้าไปในต้น หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์  อาการก็จะ
ปรากฎขึ้น  ใบกุหลาบที่เกิดโรคจะเป็นจุดดำบริเวณผิวด้านบนของใบ ขนาดจุดประมาณ 1/4 นิ้ว ในแต่ละจุดจะเห็นเส้นใยเป็นขุย  เมื่อเป็นมากใบจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วง  กุหลาบจะชงักการเติบโต

วิธีการป้องกันและรักษา   กำจัดใบหรือต้นที่เกิดโรคโดยนำไปเผาไฟทิ้ง หลีกเลี่ยงการรดน้ำที่เปียกต้นและใบเนื่องจากใบที่เปียกจะเป็นที่เพาะเชื้อราได้อย่างดี  ควรฉีดพ่นยากำจัดเชื้อราที่ใบและต้นเพื่อเป็นการป้องกันก่อนเกิดโรคเพราะเมื่อเกิดโรคแล้วจะไม่มียารักษาได้


 โรคแอนแทรกโนส (Anthracnose)


            เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งที่สามารถแพร่กระจายได้ดีในน้ำคล้ายกับโรคของใบจุดดำ  พบในช่วงที่มีฝนตกชุก  โดยจะมีจุดสีแดงหรือสีน้ำตาลเป็นวงเล็กๆ บนผิวใบด้านบน วงนี้จะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีขาวขอบม่วง เมื่อเป็นมากใบจะเหลืองและร่วง

วิธีการป้องกันและรักษา  ใช้วิธีเดียวกันกับการป้องกันรักษาโรคใบจุดดำ             


 โรคราสีเทา (Botrytis) 


            ดอกตูมจะเป็นจุดสีน้ำตาล และลุกลามขยายใหญ่  ทำให้ดอกเน่าแห้ง

วิธีการป้องกันและรักษา    เพื่อไม่ให้ดอกกุหลาบถูกฝนควรปลูกกุหลาบในโรงเรือนพลาสติก  กำจัดใบหรือต้นที่เกิดโรค    ฉีดพ่นสารเคมีด้านข้างและด้านบนดอกด้วย คอปเปอร์ ไฮดร๊อกไซด์ แมนโคเซ็บ หรือ คอปเปอร์ อ๊อกซี่คลอไรด์ เพื่อไม่ให้เชื้อราแพร่กระจาย          


 โรคหนามดำ  เกิดกับหนามของกิ่งอ่อนและลุกลามตามกิ่งก้าน  ทำให้ก้านเหี่ยวแห้งในที่สุดต้นจะตาย โดยแผลจะมีลักษณะเป็นรูปวงรี               

 
โรคราน้ำค้าง(Downey mildew)

        
   เชื้อสาเหตุ เชื้อราPeronospora spasa ลักษณะการทำลาย อาการจะแสดงบน ใบ กิ่ง
คอดอก กลีบเลี้ยง และกลีบดอก การเข้าทำลายจะจำกัดที่ส่วนอ่อน หรือส่วนยอด  โดยจะเกิดรอยปื้นสีดำที่ส่วนบนของใบ รอยดำนี้จะต่างจากโรคใบจุดดำ เพราะจะมีลักษณะค่อนข้างเป็นสี่เหลี่ยมและใบจะร่วงหลังจากรอยดำปรากฏขึ้นเพียงไม่กี่วัน    

      แมลงศัตรูกุหลาบ

              นอกจากโรคแล้วศัตรูกุหลาบที่สำคัญอีกอย่างก็คือแมลง   ซึ่งผู้ปลูกกุหลาบพบบ่อยมากและอาจเคยชินมากกว่าโรค เนื่องจากการทำลายของแมลงมองเห็นได้ชัด  แมลงที่เป็นปัญหารบกวนกุหลาบเช่น

      ด้วงปีกแข็ง (Rose beetle)

           มีทั้งชนิดที่มีลำตัวสีดำและลำตัวสีน้ำตาล เป็นแมลงกัดใบ โดยจะจับอยู่ตามใต้ใบและกัดกินใบเป็นอาหาร  หากินเวลากลางคืนส่วนกลางวันจะหลบอยู่ตามใต้ดินหรือกอหญ้าและแพร่พันธุ์บริเวณนั้น ตัวอ่อนจะอาศัยกัดกินรากหญ้าเป็นอาหาร
           ป้องกันและกำจัดได้ด้วยการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเช่น เซฟวินหรือคอนเดนทุกๆสัปดาห์
  
            
       เพลี้ยแป้ง (Mealy bug)

          เป็นแมลงปากดูด เคลื่อนที่ช้า อาศัยมดเป็นพาหนะ เกาะและกัดกินใบอ่อน   ทำให้ใบหงิกงอ  ลักษณะลำตัวมีปุยสีขาวคลุมอยู่และปุยนี้มีคุณสมบัติเป็นมันไม่จับน้ำ
      การฉีดพ่นน้ำแรงๆเพื่อให้เพลี้ยหลุดออกเป็นวิธีหนึ่งในการป้องกันและกำจัด   ถ้าต้องใช้สารเคมีอาจพ่นด้วยมาลาไธออน โดยต้องผสมยาเคลือบใบลงไปด้วย               
  
       เพลี้ยไฟ   (Thrips)

             เป็นแมลงปากดูดขนาดเล็กมาก  มีสีเทาจนถึงสีดำ  ตัวอ่อนจะมีสีขาวนวล   ชอบอาศัยอยู่ตามซอกกลีบ และชอบดูดน้ำเลี้ยงจากดอกตูม ดอกบาน ยอดอ่อน และใบ มักเกิดกับกุหลาบที่มีสีอ่อนๆ  ทำให้ดอกไม่บานหรือบานไม่ปกติ   กลีบดอกที่ถูกเพลี้ยไฟทำลายมีอาการลายด่างสีขาว ควรระมัดระวังโดยเฉพาะช่วงที่มีอากาศแห้ง
         ป้องกันและกำจัดโดยการฉีดพ่นยาฆ่าแมลงก่อนที่ดอกตูมจะบาน    หากมีการทำลายเกิดขึ้นแล้วให้เด็ดดอกที่เสียหายทิ้งและฉีดพ่นยาฆ่าแมลง           
  
         เพลี้ยหอย

               เป็นแมลงปากดูดที่กำจัดยาก   มักเกาะทำลายโดยดูดน้ำเลี้ยงจากลำต้น จะสังเกตเห็นเป็นจุดสีน้ำตาลอยู่บนกิ่งของกุหลาบ เพลี้ยหอยนี้มีลักษณะพิเศษ คือ ตัวของมันจะมีเปลือกหุ้มหนาเป็นรูปครึ่งวงกลม
สีน้ำตาล  ทำให้ยาฆ่าแมลงซึมเข้าถึงตัวได้ยาก
       การป้องกันและกำจัดที่ได้ผลดีก็คือ ใช้น้ำมันทาหรือฉีดพ่นเคลือบตัวมันไว้ ทำให้เพลี้ยไม่มีทางหายใจ และตายในที่สุด แต่เมื่อเพลี้ยตายแล้วจะไม่หลุดจากลำต้นจะยังติดอยู่ที่เดิม              
  
       เพลี้ยอ่อน (Aphids)

              เป็นแมลงปากดูด ลำตัวค่อนข้างใส ยาวประมาณ 1/8 นิ้ว สีเขียวหรือสีน้ำตาล หากินเป็นกลุ่ม โดยดูดน้ำเลี้ยงจากใบอ่อน  ยอดอ่อน  ทำให้ใบหงิกงอ  เพลี้ยอ่อนจะขับถ่ายออกมาทำให้เกิดคราบสีดำบนใบ  ซึ่งสิ่งขับถ่ายของเพลี้ยอ่อนนี้เป็นอาหาร ของมด  ดังนั้นมดจึงกลายเป็นพาหนะพาเพลี้ยอ่อนเคลื่อนที่ไป
        ป้องกันและกำจัดโดยการใช้ยาฆ่าแมลงชนิดดูดซึม เช่นแอนดริน ฉีดพ่น 
  
       ผึ้งกัดใบ (Leafcutter bees)

               ตัวสีดำ น้ำเงินหรือสีม่วง ใบที่ถูกกัดจะแหว่งเป็นรอยโค้งเป็นวงกลมหรือรูปไข่  ผึ้งไม่กินใบที่กัดเป็นอาหารแต่จะนำไปใช้ในการสร้างรัง
               ป้องกันและกำจัดได้โดยตัดกิ่งที่ใบถูกทำลาย   เนื่องจากผึ้งเป็นแมลงที่ช่วยในการผสมเกสรของพืชหลายๆชนิดจึงไม่แนะนำให้ใช้ยาฆ่าแมลง
  
       หนอนกินใบ 

              เกิดจากหนอนผีเสื้อ กลางคืนหลายชนิด   วางไข่ตามใต้ใบ ไข่จะมีลักษณะเป็นแพคล้ายฟองน้ำ เมื่อฟักออกจากไข่ตัวจะมีสีเขียวและกัดกินใบที่เกาะอยู่ โดยจะกินเนื้อใบด้านล่างเท่านั้น จนใบที่ถูกกัดกินมีลักษณะโปร่งใส หรือเป็นรูแหว่ง
           ป้องกันและกำจัดโดยการฉีดพ่นด้วยยา Bacillus thuringiensis ที่ทำลายเฉพาะหนอนผีเสื้อแต่ไม่เป็น
อันตรายต่อพืชและสัตว์อื่น              
  
       หนอนเจาะดอก 

                   ตัวผีเสื้อจะเข้าไป วางไข่ บนกลีบดอกด้านนอก และเมื่อไข่ฟักเป็นตัว หนอนจะเข้าเจาะกัดกินทำลายดอกเสียหาย    ทำให้กลีบดอกเป็นแผล เป็นรู ดอกแคระแกรนเสียรูปทรง
            หากพบการระบาดของหนอนในปริมาณที่ไม่มาก ให้ใช้วิธีบี้ให้ตายหรือจับหนอนออกจากต้นแล้วนำไปทำลาย ให้ห่างจากแปลงปลูกหรือกระถางปลูก  หากมีการระบาดมากให้ฉีดพ่นยาฆ่าแมลงเช่น
ดริลดริน    ฟอสดริน        
  
     หนอนเจาะต้น  

            เกิดจากตัวอ่อของผีเสื้อหรือตัวต่อ แตน เป็นหนอนสีขาวหรือเหลืองยาวประมาณ 1 นิ้วเกาะอยู่ตามลำต้น หนอนนี้จะเจาะเข้าไปในลำต้นหรือกิ่งที่ถูกตัดเพื่อเกาะกินไส้และบริเวณรอยต่อระหว่างกิ่งแห้งและกิ่งดี  ทำให้กิ่ง และลำต้นเหี่ยว  ที่ลำต้นจะมีลอยนูน โป่งยาวประมาณ 1 นิ้ว
วิธีป้องกันและกำจัด   ตัดกิ่งที่เสียหายทิ้งโดยตัดให้ต่ำกว่ารอยนูน โป่ง เพื่อให้แน่ใจว่าตัดเอาหนอนทิ้งไปแล้ว  เพื่อเป็นการป้องกันหนอนเจาะต้นหลังจากตัดกิ่งแล้วให้อาบด้วยน้ำยาเคลือบมันที่ปลายกิ่ง             
  
        ไรแดง (Spider mite) 

                เป็นแมงมุมชนิดหนึ่ง ขนาดเล็กมากจนมองเห็นได้ยาก มีทั้งพวกที่มีสีแดง  ดำ เหลืองและเขียว   มักเกาะอยู่ใต้ใบคอยดูดกินน้ำเลี้ยง ทำให้ใบแห้ง  เหลืองและร่วง  ป้องกันและกำจัดได้โดยการรดน้ำด้วยวิธีฉีดพ่นน้ำแรงๆช่วยกำจัดไรแดงในระยะแรกได้   ฉีดพ่นด้วยยาฆ่าแมลงเช่นยาโบรพาร์ไจน์ ได้ทุกๆ 15 วัน  พยายามเปลี่ยนยาเนื่องจากถ้าใช้ยาเดิมไรแดงจะสามารถต้านทานฤทธิ์ยาได้  ไรแดงแพร่ขยายพันธุ์ได้เร็วภายในเวลาไม่กี่วันจึงควรฉีดพ่นยาบ่อยๆ    


 

การขยายพันธุ์และการตัดแต่งกิ่ง


การขยายพันธุ์

 ในการขยายพันธุ์กุหลาบเราสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การตัดชำ  การติดตา การตอนกิ่ง และการเพาะเมล็ด  บางครั้งเพื่อให้ได้ต้นกุหลาบที่มีรากแข็งแรง และให้ผลผลิตสูงเกษตรกรมักนิยมกุหลาบพันธุ์ดีที่ติดตาบนตอกุหลาบป่า

การตอนกิ่ง

           วิธีนี้เป็นที่นิยมมาก เพราะทำได้ง่ายและเห็นผลเร็ว กิ่งที่เลือกต้องเป็นกิ่งที่สมบูรณ์ ไม่มีโรคหรือแมลงทำลาย  ไม่อ่อนหรือแก่เกินไป คือสีเปลือกเขียวเข้มจนถึงน้ำตาลอ่อน  เปลือกล่อนออกจากกิ่งได้ง่าย วิธีตอนที่นิยมทำคือ การตอนแบบหุ้มกิ่ง โดยใช้มีดคมๆ ควั่นเปลือกรอบกิ่ง
2 รอย ห่างกันประมาณ 2.5-3 ซม. ให้รอยควั่นด้านบนอยู่ใต้ตาเล็กน้อย  กรีดตามยาวและลอกเอาเปลือกออก แล้วใช้สันมีดขูดเมือก ออกให้หมด จากนั้นนำขุยมะพร้าวที่แช่น้ำจนอิ่มตัวหุ้มตรงรอยควั่น นำถุงพลาสติกมาหุ้มทับอีกที แล้วมัดด้วยเชือกที่หัวท้ายให้แน่น กิ่งตอนจะเริ่มออกรากในเวลา 2-3 สัปดาห์       
 


การติดตา

           นิยมติดตาพันธุ์ดีบนต้นตอกุหลาบป่า ได้แก่ Rosa multiflora หรือ R.indical (R. chinensis) ซึ่งมี ความแข็งแรงและทนทาน ก่อนทำการติดตาต้องเตรียมต้นตอและเลือกตาพันธุ์ดีที่จะนำมาติด ควรเลือกต้นกุหลาบป่าที่กำลังเจริญเติบโต เปลือกล่อนจากเนื้อ  ตาที่ใช้ควรเป็นตาจากกิ่งที่ดอกเริ่มเหี่ยวประมาณ ตาที่ 3-4 นับจากตาแรกที่อยู่ใกล้ดอกลงมาหรือเลือกจากกิ่งที่สมบูรณ์เต็มที่  โดยเลือกเอาตาที่นูนเด่นชัด วิธีการที่นิยมทำคือ การติดตาแบบตัวที (T-budding) โดยกรีดต้นตอตามทางยาวประมาณ 3-4 ซม. แล้วตัดขวางชิดกับรอยกรีดด้านบน ใช้มีดเผยอเปลือกตามรอยกรีดด้านบนออกทั้งสองข้าง จากนั้นใช้มีดเฉือนตาจากกิ่งพันธุ์ดีที่เตรียมไว้ให้เท่ากับแผลบนต้นตอ นำแผ่นตาสอดลงไปในแผลบนต้นตอ พันด้วยพลาสติกให้แน่น หลังจากติดตา 7-10 วัน ถ้าแผ่นตายังเป็นสีเขียวแสดงว่าการติดตาได้ผล การขยายพันธุ์ด้วยการติดตานี้ทำให้กุหลาบของเรามีดอกได้หลายสีในต้นเดียวกัน
 
การปักชำกิ่ง

           วัสดุปักชำ ได้แก่ ทรายหยาบผสมกับขี้เถ้าแกลบ ในปริมาณเท่าๆ กัน กิ่งที่จะใช้ปักชำควรเป็นกิ่งที่มีดอกเริ่มแย้ม  หรือกิ่งที่ดอกบานไปแล้วไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ ตัดให้มีความยาว 5-6 นิ้ว มีใบติด 3-5 ใบ ขึ้นไป ตัดแล้วนำไปจุ่มในน้ำก่อนนำไปปักชำ ช่วงเวลาในการตัดกิ่งควรเป็นตอนเช้าหรือตอนเย็น วิธีนี้นิยมใช้ขยายพันธุ์กุหลาบหนู     

การเพาะเมล็ด

       จะต้องให้เมล็ดผ่านอุณหภูมิต่ำชั่วระยะเวลาหนึ่งจึงจะงอก โดยธรรมชาติของกุหลาบจะติดเมล็ดในอากาศหนาวหรือเขตอบอุ่น  เมล็ดจึ่งไม่สามารถงอกได้ทันทีที่อุณหภูมิห้องปกติ เมื่อนำเมล็ดกุหลาบไปเพาะในภาชนะที่ใส่วัสดุเพาะ เช่น ขุยมะพร้าวที่ชื้นคลุมด้วยถุงพลาสติกแล้ว จะต้องนำไปเพาะในตู้เย็นประมาณ 3-4 สัปดาห์ จะมีจำนวนเมล็ดงอกประมาณ 5 เปอร์เซ็นต์ แล้วจึงนำออกมาไว้ข้างนอก เมื่อต้นกล้างอกหมด แล้วจึงย้ายลงกระถางหรือถุงชำ


การตัดแต่งกิ่่ง

               หลังจากปลูกกุหลาบได้ระยะหนึ่งจำเป็นต้องมีการตัดแต่งกิ่ง มิฉะนั้นกุหลาบจะเจริญเติบโตอย่างไม่มีทิศทาง จะแตกกิ่งก้านมากเกินไปทำให้ดอกเล็ก ต้นหนาทึบดูแลยากและโรคและแมลงเข้าทำลายได้ง่าย

จุดประสงค์ในการตัดแต่งกิ่ง
             1 เพื่อปรับรูปทรงของพุ่มต้นให้ดีขึ้น ไม่ให้สูงหรือหนาจนเกินไป จะได้ง่ายในการดูแลรักษา
             2 เพื่อบังคับให้มีการแตกกิ่งจากส่วนต่างๆของต้นซึ่งมักเป็นกิ่งขนาดโตเรียกว่ากิ่งกระโดง ดอกที่เกิดจากกิ่งนี้จะมีขนาดโต
ภาพแสดงการเปรียบเทียบก่อนและหลังการตัดแต่ง
 
             3 เป็นการกำจัดโรคและแมลงที่มีอยู่ตามกิ่งให้หมดไป
               4 ช่วยในการแต่งดินในแปลงได้สะดวกขึ้น
 ฤดูในการแต่งกิ่ง ขึ้นอยู่กับสภาพดินฟ้าอากาศในแต่ละท้องที่ แต่นิยมทำตอนที่ตาเริ่มแตกยอดใหม่ ทำปีละ 2 ครั้ง ประมาณเดือน มิถุนายน และ เดือนพฤศจิกายนและอาจทำทุกระยะของช่วงการเจริญเติบโต

หลักในการตัดแต่งกิ่ง

              1 ตัดกิ่งแห้งตายออก เช่นกิ่งแห้งในพุ่มหรือกิ่งแขนง กิ่งที่มีสีดำหรือสีน้ำตาล
              2 ตัดกิ่งที่เป็นโรคหรือกิ่งที่แมลงทำลาย เช่นกิ่งหนามดำ กิ่งที่มีเพลี้ย ควรตัดออกให้หมดเพื่อไม่ให้กระจายไปกิ่งอื่นๆ
              3 ตัดกิ่งซักเกอร์ (suckers) ซึ่งเป็นกิ่งที่แตกออกมาจากต้นตอออกให้หมด ในกรณีที่กุหลาบนั้นได้จากการติดตา
              4 ตัดกิ่งล้มเอน กิ่งเกะกะ ที่ทำให้ไม่สะดวกในการดูแลรักษา
              5 ตัดกิ่งแก่ที่ไม่ต้องการออก
              6 ตัดกิ่งให้สั้นตามต้องการ มากน้อยขึ้นอยู่กับพันธุ์ สภาพดินและลักษณะอากาศในท้องที่ โดยแบ่งการตัดเป็น 3 ระดับคือ ตัดสั้นเพียงเล็กน้อยโดยตัด
 1 ใน 3ของความสูงเดิม  ตัดแต่งพอประมาณ ตัดส่วนบนทิ้งไปประมาณ 1 ใน 2  ตัดแต่งอย่างหนัก ตัดส่วนบนทิ้งไปประมาณ 2 ใน 3
              7 ตัดกิ่งไขว้ออก คือกิ่งที่เจริญในพุ่มรวมทั้งกิ่งที่ห้อยไปคลุมกิ่งอื่น
              8 การตัดควรทำมุม 45 องศา ควรตัดเหนือตาประมาณ 1/4 และให้ตาอยู่ทางด้านส่วนสูงของรอยเฉียง
              9 ทาขอบแผลรอยตัดกิ่งที่มีขนาดโตกว่าดินสอด้วยสีน้ำมันหรือปูนแดงเพื่อป้องกันการแห้งตายของปลายกิ่งที่เกิดจากการทำลายของหนอนเจาะต้นและเชื้อรา
 
การบำรุงหลังตัดแต่ง

            1 เก็บใบที่เหลือติดโคนต้นออกให้หมด ในกรณีที่ตัดแต่งกิ่งยังไม่แก่และต้องเหลือใบไว้เลี้ยงต้น ต้องเก็บใบที่เป็นโรคออกให้หมดเหลือไว้แต่ใบที่สมบูรณ์ ใบแห้งที่ร่วงหล่นต้องเก็บให้หมดเพื่อไม่ให้เป็นที่เพาะเชื้อโรค และเป็นที่หลบซ่อนของแมลง
            2 ทำความสะอาดแปลงและพรวนดิน ควรใส่ปุ๋ยกระดูกต้นละ 1-2 กำมือ และคลุมแปลงด้วยวัสดุคลุมดิน
            3 ใส่ปุ๋ยปลา โดยผสมน้ำอัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะ กับน้ำ 1 แกลลอน รดโคนต้น
            4 ใช้แมกนีเซียมซัลเฟต หรือดีเกลือโรยรอบต้นห่างจากโคคนต้น 1 ฟุต
            5 ฉีดยากันเชื้อราภายใน 24 ชั่วโมงให้ทั่วต้นและตลอดหน้าแปลง
            6 เมื่อกุหลาบเริ่มแตกใบใหม่ควรใส่ปุ๋ยสูตร 10-20-20 ทุกๆ 35 วัน แต่ไม่ควรเกิน 5-6 ครั้งต่อปี และเนื่องจากกุหลาบจะต้องการน้ำมากเป็นพิเศษ หลังการตัดแต่งจึงควรรดน้ำมากกว่าปกติ